Home » การพัฒนาบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์

การพัฒนาบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์

ขั้นตอนในการพัฒนาบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning Courseware) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานั้น องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนผ่านระบบบริหารจัดการการเรียนการสอน หรือ Learning Management System (LMS) ให้ประสพความสำเร็จขึ้นกับผู้สอน บทเรียนหรือผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียน ดังนั้นในการพัฒนาเนื้อหาบทเรียนจะดำเนินการแยกตามการปรับปรุงเนื้อหา บทเรียน เป็นขั้นตอนต่างๆได้ 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเลือกเนื้อหา (Content Selection)

โดบปกติผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ซึ่งจะระบุเนื้อหาและข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้สอนทั้งหมดตามคำอธิบายรายวิชา  แบ่งขอบเขตของเนื้อหา และแทรกสอดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ โดยการคิดกิจกรรมประกอบการเรียนให้เป็นปัจจุบันจากเนื้อหาบทเรียนเดิม โดยจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของกลุ่มผู้เรียนและสื่อการสอนที่เหมาะสมกับความสามารถของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ในการวิเคราะห์เนื้อหาบทเรียนจะทำเพื่อกำหนดการใช้สื่อที่เหมาะสมกับบทเรียน โดยการวิเคราะห์จะอาศัยเกณฑ์ในการวิเคราะห์ เช่น ลักษณะของเนื้อหาวิชา สาระสำคัญของการเรียน ลักษณะของกลุ่มเป้าหมายในการเรียน เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 ออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design)

ขั้นตอนนี้จะเป็นการกำหนดกลวิธีการนำเสนอตามวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม โดยจะเป็นการกำหนดกลวิธีของการนำเสนอในแต่ละหน่วยการเรียนว่าจะให้มีรูปแบบเช่นไร ซึ่งจะต้องออกแบบลำดับการนำเสนอเนื้อหาบทเรียนตามหลักการสอนที่ได้ทำการวิเคราะห์เนื้อหามาจากขั้นตอนที่ 2 โดยขั้นตอนนี้จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น Script และ Story Board เพื่อเตรียมให้ฝ่ายเทคนิคสามารถนำไปพัฒนาต่อได้

ขั้นตอนที่ 4 ผลิตบทเรียน เนื้อหาวิชาที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ (Production)

เป็นขั้นตอนที่นำเอาสื่อต่างๆ ที่ได้ออกแบบไว้ในขั้นตอนที่ 3 คือ Script และ Storyboard มาสร้างให้เกิดรูปแบบของสื่อผสม หรือ Multimedia การผสมผสาน รูป ตัว อักษร เสียง ตลอดจนการนำเสนอ หรือเทคนิคต่างๆ เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหากับผู้เรียน โดยจะนำมาประกอบในเครื่องมือหรือโปรแกรมที่เรียกว่า Authoring Tools ที่สามารถ Publish ผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน SCORM  และ HTML5 เพื่อให้สามารถแสดงผลได้ทุกอุปกรณ์เช่น PC Laptop หรือ Tablet ซึ่งตรงตามที่ระบบการเรียนการสอนหรือ LMS รองรับ เวอร์ชั่นนั้นๆ

ขั้นตอนที่ 5 นำบทเรียนเข้าสู่ระบบ LMS (Import)

ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่นำเอา Zip Package  ที่ได้มาตรฐาน SCORM มาลงไว้ในระบบบริหารการเรียนการสอน (LMS)หรือ การทำ Import ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะมีการเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ ตลอดจนข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนด้วยกันเอง ตลอดจนปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน ทั้งแบบตัวต่อตัวและแบบกลุ่ม และสามารถประเมินผลการเรียนต่างๆ ได้

ขั้นตอนที่ 6 ประเมินประสิทธิภาพ (Evaluation)

เป็นตอนที่ประเมินบทเรียนเพื่อหาประสิทธิภาพและปรับปรุง โดยจะดำเนินการประเมินในด้าน ความเหมาะสมด้านเนื้อหา รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจของผู้เรียน โดยเครื่องมือที่ใช้อาจได้แก่ แบบสอบถาม แบบทดสอบผู้เรียน หรือแบบประเมินความคิดเห็น  ซึ่งผลที่ได้จะนำกลับมาปรับปรุงและจัดเป็น version ต่อ ๆ ไป

ขั้นตอนที่ 7 การนำบทเรียนไปใช้ (Go Live)

ขั้นตอนนี้คือขั้นตอนที่ดำเนินการสอนด้วยกิจกรรมโดยใช้ระบบ Learning Management System (LMS) ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อประสมที่ได้พัฒนาไม่ว่าจะอยู่ในรูปของตัวอักษร, รูปภาพ, เสียงบรรยายตลอดจนภาพเคลื่อนไหวที่ช่วยเสริมจินตนาการให้ผู้เรียนได้เข้าใจบทเรียนได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถนำความหวังและจินตนาการไปเป็นแนวทางในการเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้